ท้องผูก..รู้ก่อนป้องกันได้

กรมการแพทย์

ระบบการขับถ่ายถือเป็นสัญญาณเตือนและบ่งบอกถึงสุขภาพของทุกคน หากใครที่มีปัญหาท้องผูกหรือขับถ่ายไม่ปกติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจและสังเกตตัวเองว่าอยู่ในระดับใด ถึงขั้นต้องปรึกษาแพทย์หรือไม่


นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า ลักษณะอาการที่เป็นสัญญาณแจ้งเตือนว่าท้องผูกอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็กๆ รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออกหรือถ่ายได้ไม่สุด ถ่ายอุจจาระออกได้ยาก ต้องใช้แรงเบ่งมาก มีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ อีกทั้งอาจมีอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้องร่วมด้วย


ผู้ที่มีอาการดังกล่าวเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน อาการท้องผูกธรรมดาอาจพัฒนากลายเป็นท้องผูกเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ ได้แก่ โรคริดสีดวงทวาร การเกิดแผลแตกรอบๆ ทวารหนัก และอาจก่อให้เกิดอาการลำไส้อุดตันได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติในการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยหาสาเหตุไม่ได้ อีกทั้งมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงผิดปกติ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด แม้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรับประทานอาหารแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่อาจซ่อนความผิดปกติไว้


นพ.มานัสกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของอาการท้องผูกที่พบบ่อย ได้แก่ การอั้นอุจจาระ การรับประทานอาหารที่มีปริมาณเส้นใยไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาระงับปวด ยาลดกรด ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก ยาขับปัสสาวะ ดื่มน้ำน้อย มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป ปัญหาความเครียด ตลอดจนปัญหาทางด้านจิตใจ


อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกสามารถรักษาได้หลายวิธี ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง โดยเฉพาะผัก ผลไม้และธัญพืช ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน และไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยการใช้ยา สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น เส้นใยหรือไฟเบอร์ มีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดน้ำได้ดี อุจจาระจึงนิ่มและถ่ายออกได้ง่าย ยาระบายกลุ่มกระตุ้น ช่วยกระตุ้นจังหวะการบีบตัวของลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น ยาระบายกลุ่มออสโมซิส ช่วยออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น ทำให้อุจจาระไม่แห้งและแข็งจนถ่ายออกลำบาก ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ ยาเหน็บและการสวนอุจจาระ เป็นต้น ทั้งนี้ควรดูแลรักษาสุขภาพและรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ.


"ลักษณะอาการที่เป็นสัญญาณแจ้งเตือนว่าท้องผูกอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็กๆ รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออกหรือถ่ายได้ไม่สุด ถ่ายอุจจาระออกได้ยาก ต้องใช้แรงเบ่งมาก มีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ อีกทั้งอาจมีอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้องร่วมด้วย"